วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติผ้าขาวม้า

            ผ้าขาวม้า ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มว่า "กามาร์บันด์" (Kamar band) "กามาร์" หมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย "บันด์" แปลว่า พัน รัด หรือ คาด เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกัน จึงหมายถึง เข็มขัด ผ้าพัน หรือ คาดสะเอว คำว่า "กามาร์บันด์" ยังปรากฎอยู่ในภาษาอื่นๆ อีก เช่น ภาษามลายู มีคำว่า "กามาร์บัน" (Kamarban) ภาษาฮินดี้มีคำว่า "กามาร์บันด์" (Kamar band) และ ในภาษาอังกฤษมีคำว่า "คัมเมอร์บันด์" (Commer band) หมายถึง ผ้ารัดเอว ในชุดทัคซิโด้ (Tuxedo) ซึ่งเป็นชุดสำหรับออกงานราตรีสโมสร

          จากงานวิจัย เรื่อง "ผ้าขาวม้า" ของ อาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง อธิบายไว้ว่า "ผ้าขาวม้า" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "กามา" (Kamar) ซึ่งเป็นภาษาอิหร่านทีใช้กันอยู่ที่ประเทศสเปน เข้าใจว่าสเปนเอาคำว่า "กามา" ของภาษาแขกไปใช้ด้วย เพราะในประวัติศาสตร์ ประเทศทั้งสองมีการติดต่อกันมาช้านาน
      



             จากรากฐานของข้อมูล แสดงให้เห็นว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าโบราณ ที่ใช้ประโยชน์กันมานานแล้ว คนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่ สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ถ้านับเวลาย้อนไป จะตรงกับยุคสมัยเชียงแสน ในสมัยเชียงแสนผู้หญิงมักนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายเริ่มใช้ผ้าเคียนเอว (ผ้าขาวม้า) ซึ่งได้วัฒนธรรมมาจากไทยใหญ่ (ไทยใหญ่ใช้โพกศีรษะ) ส่วนไทยเรายังมุ่นมวยผมอยู่ เมื่อเห็นประโยชน์ของผ้าจึงนำมาใช้บ้าง แต่เปลี่ยนมาเป็นผ้าเคียนเอว เมื่อเดินทางไกลจึงนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งให้ประโยชน์มาก เช่น ใช้ห่ออาวุธ และเก็บสัมภาระในการเดินทาง ปูที่นอน นุ่งอาบน้ำ ใช้เช็ดร่างกาย เมื่อไทยใหญ่เห็นประโยชน์ของการใช้ผ้า จึงนำมาเคียนเอวตามอย่างบ้าง
"เคียน" เป็นคำไทย มีความหมายตามพจนานุกรม คือ พัน ผูก พาด โพก คาด คลุม เมื่อนำมารวมกับคำว่า "ผ้า" และส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น เอว จึงมีความหมายว่า เป็นผ้าสำหรับคาดเอว ซึ่งคนไทยโบราณจะรู้จัก "ผ้าเคียนเอว" มากกว่า "ผ้าขาวม้า" เนื่องจากใช้เรียกกันมาแต่โบราณ ส่วนคำว่า "ผ้าขาวม้า" มานิยมใช้เรียกกันในภายหลัง



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น